ประวัติโรงเรียน
|
 |
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๐ จังหวัดชุมพร ตั้งอยู่ที่ 188 หมู่ 7 บ้านหินลับ ถนนเพชรเกษม (ติดถนนเพชรเกษมตอนบนท่าแซะ – บางสะพาน) ตรงกิโลเมตรที่ 459 ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร มีเนื้อที่ 318 ไร่ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงโปรดฯ เกล้าให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปภัมภ์ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษและเร่งด่วนตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 31 มกราคม 2533 เพื่อรับเด็กที่กำพร้า อนาถา ยากจน ไร้ที่พึ่ง ของผู้ประสบภัยพิบัติจากมหาวาตภัย “ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 ให้เข้าเรียนแบบกินอยู่ประจำ ตั้งแต่ชั้น ป.6 - ม.3 โดยรัฐบาลอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในปีแรกมีนักเรียนทุกชั้นรวม 115 คน โรงเรียนมีเนื้อที่ 234 ไร่ ตั้งอยู่ติดริมถนนเพชรเกษม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 459 เป็นโรงเรียนสังกัดกองการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ
การก่อสร้างในระยะแรก กระทรวงศึกษาธิการได้ร้องขอให้กองทัพภาคที่ 4 โดยกองพลพัฒนาที่ 4 เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้าง ได้รับเงินพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปภัมภ์ จำนวน 13,678,115 บาท ในปีงบประมาณ 2533 ได้ร้องของบประมาณจากกรมสามัญศึกษา 4,128,000 บาท ดำเนินการก่อสร้างโดยผู้รับจ้าง ส่วนในปีงบประมาณ 2534 ได้รับเงินงบประมาณ 14,959,000 บาท และได้รับงบฟื้นฟูบูรณะพัฒนาจังหวัดชุมพร และจังหวัดใกล้เคียงอีก 10,510,000 บาท เพื่อก่อสร้างถนนลาดยาง ถนนผิวหินคลุก ขยายงบประมาณจำหน่าย ไฟฟ้า ประปา และครุภัณฑ์ที่จำเป็น ส่วนที่เหลือสร้างอาคารประกอบต่าง ๆ ปีงบประมาณ 2535 ได้รับงบประมาณการก่อสร้าง 2,008,000 บาท กับได้รับอนุมัติให้ใช้ที่ดินของกรมป่าไม้เพิ่มเติมอีก รวมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 318 ไร่
ในปีการศึกษา 2533 ซึ่งโรงเรียนอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้นำนักเรียนไปฝากเรียนที่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ สุราษฎร์ธานี โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนมัธยมศึกษาวัชเรศร ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2533 เป็นต้นมา
การก่อสร้าง กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างและจัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2533 โดย พลเอกมานะ รัตนโกเศศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธีและดำเนินการก่อสร้าง จนกระทั่งการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2534 และได้อพยพขนย้ายเข้าเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๐ จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2534
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2534 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดป้ายโรงเรียนอย่างเป็นทางการ สร้างความปลาบปลื้มปิติยินดีแก่คณะครู อาจารย์ นักเรียน และพสกนิกรโดยทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๐ จังหวัดชุมพร โดยจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในลักษณะโรงเรียนประจำ ในรูปแบบการศึกษาสงเคราะห์ และเปิดโอกาสให้บริการรับนักเรียนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้ง 10 ประเภทเข้าเรียน อันได้แก่
-
เด็กที่ถูกบังคับให้ขายแรงงาน หรือแรงงานเด็ก หมายถึง เด็กที่ถูกบังคับให้ทำงานหารายได้ด้วยการขายแรงงานก่อนวัยอันสมควร ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างจนไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา หรือการพัฒนาให้เป็นไปตามหลักพัฒนาการอันเหมาะสมกับวัย
-
เด็กเร่ร่อน หมายถึง เด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยพักพิงเป็นหลักแหล่งแน่นอน ดำรงชีวิตอย่างไร้ทิศทาง ขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เสี่ยงต่อการประสบอันตรายและเป็นปัญหาสังคม
-
เด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงกับธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก หมายถึง เด็กที่มีความสมัครใจหรือถูกบังคับล่อลวงให้ขายบริการทางเพศหรือถูกชักจูงให้ตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ
-
เด็กที่ถูกทอดทิ้ง/กำพร้า หมายถึง เด็กที่มารดาคลอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาลหรือตามสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึงเด็กที่บิดา มารดาปล่อยทิ้งไว้ให้มีชีวิตอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดา ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาการหย่าร้าง หรือครอบครัวแตกแยกมีสภาพชีวิตอยู่ท่ามกลางความสับสน ขาดความรัก ความอบอุ่น ตลอดถึงเด็กที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู อันเนื่องมากจากสาเหตุอื่น
-
เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ หมายถึง เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางจิตใจ มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นสุข ระแวง หวาดกลัว เนื่องจากถูกทำร้ายทารุณ ถูกบีบคั้นกดดันจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองซึ่งมีสภาพจิตใจหรืออารมณ์ไม่เป็นปกติ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะต่าง ๆ จากบุคคลที่อยู่ใกล้ตัว
-
เด็กยากจน(มากเป็นพิเศษ) หมายถึง เด็กซึ่งเป็นบุตรหลานของคนยากจน ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ครอบครัวอยู่รวมกันหลายคนขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานชีวิต อยู่อย่างยากลำบาก รวมถึงเด็กในแหล่งชุมชนแออัดหรือบุตรของกรรมกรก่อสร้าง หรือเด็กจากครอบครัวที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลที่ขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาและบริการอื่น ๆ
-
เด็กในชนกลุ่มน้อย หมายถึง เด็กที่เป็นบุตรหลานของบุคคลที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศ มีชีวิตอยู่อยู่อย่างยากลำบากและมีปัญหาเกี่ยวกับการถือสัญชาติไทยเป็นสาเหตุให้ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาหรือบริการอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นเด็กในครอบครัวที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศไทย
-
เด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติด หมายถึง เด็กที่ติดสารระเหยหรือสารเสพติดให้โทษ หรือเด็กเสี่ยงต่อการถูกชักนำให้ประพฤติตนไม่เหมาะสม เกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับกลุ่มมิจฉาชีพ ผู้มีอิทธิพล หรือบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์จากการประกอบอาชีพ ผิดกฎหมาย เป็นเด็กด้อยโอกาสที่มีแนวโน้มสูงต่อการก่อปัญหาในสังคม
-
เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ หมายถึง เด็กที่ติดเชื้อเอดส์ หรือบิดา มารดาเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์ เป็นเด็กที่ถูกสังคมรังเกียจ เป็นเหตุให้เด็กไม่สามารถเข้ารับการศึกษาหรือบริการอื่น ๆ ร่วมกับเด็กปกติทั่วไปได้
-
เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หมายถึง เด็กที่กระทำผิด และถูกควบคุมอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามกฎหมาย ตลอดถึงเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์นอกสมรส ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย และการทอดทิ้งทารก เป็นต้น
ปัจจุบัน โรงเรียนมีนักเรียน จำนวน 470 คน (ข้อมูลจำนวนนักเรียน ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2563) มีข้าราชการครู จำนวน 33 คน พนักงานราชการ จำนวน 7 คน ครูอัตราจ้าง จำนวน 4 คน และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 13 คน ผู้บริหารคนปัจจุบันคือ นายรังสิวุฒิ หมุดยะฝา ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน (ข้อมูลณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563)
|